
การที่ผมได้เกิดมาเป็นผู้เป็นคน ได้มีการมีงานทำ ได้มีคนนับหน้าถือตา ได้เป็นผู้นำครอบครัวที่ดี ไม่เป็นภาระให้กับสังคม และนำพาครอบครัวให้ดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุข ผมถือว่าเป็นบุญเป็นกุศลอย่างยิ่งแล้ว ผมรู้สึกภูมิใจและพอใจที่ได้เกิดมาเป็นลูกของคุณพ่อและคุณแม่ ไม่ว่าคุณพ่อและคุณแม่จะยากดีมีจน ได้รับการศึกษาสูงหรือต่ำไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับลูกเลย ขอเพียงแต่คุณพ่อและคุณแม่ได้ให้โอกาสลูก ได้พัฒนาตนเองให้มีร่างกายและจิตใจที่เข้มแข็งก็พอใจที่สุดแล้ว
การที่ลูกจะประสบความสำเร็จดังกล่าวนั้นได้ก็อยู่ด้วยความช่วยเหลือของคุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องช่วยกันอบรมเลี้ยงดู ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ช่วยได้มากกว่าใครๆคือ
1. ช่วยให้ลูกเป็นคนมีความดี 3 ประการ
- ประพฤติดี ทั้งกาย วาจา และใจ
- รับผิดชอบดี
- วินัยดี
2. ช่วยให้ลูกเป็นคนมีความเก่ง 3 ประการ
- เก่งในการปรับตัวเข้ากับคนอื่นและสิ่งแวดล้อม
- เก่งในการแก้ปัญหา
- เก่งในการสร้างแรงจูงใจให้กับตนเอง
3. ช่วยให้ลูกเป็นคนมีความกล้า 3 ประการ
- กล้าคิด
- กล้าพูด
- กล้าทำ หรือตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้อง หรือเหมาะกับเวลา สถานที่ และบุคคล
4. ช่วยให้ลูกเป็นคนมีคุณธรรมประจำใจคือ ความซื่อสัตย์ สุจริต ความขยันหมั่นเพียร ความประหยัด ความอดทน ความมีจิตเมตตา กรุณา และความกตัญญูกตเวทิตา
5. ช่วยให้ลูกดำเนินชีวิตที่เป็นสุข คือมีความพอใจในสิ่งที่ตนเองได้, ตนเองมี, ตนเองเป็น และมีจิตใจสงบสุข
การช่วยเหลือสั่งสอนของคุณพ่อคุณแม่จะมีประสิทธิภาพอย่างยิ่งถ้า
1. ท่านทั้งสองเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตที่ดีงาน
2. คุณพ่อและคุณแม่ ได้ฝึกฝนให้ลูกรู้จักแบ่งปัน ช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นโดยเหมาะสมกับวัย
3. คุณพ่อและคุณแม่ คอยให้ความรักและเอาใจใส่ต่อลูก
4. ให้ความเป็นอิสระแก่ลูกที่เขาคิด พูดและตัดสินใจ ถ้าสิ่งนั้นไม่เป็นอันตราย หรือไม่ใช้สิ่งที่ผิด
5. สร้างบรรยากาศในบ้านให้อบอุ่น ปลอดภัย มีความเป็นมิตร
6. คุณพ่อและคุณแม่ไม่ใช้อารมณ์ในการแก้ปัญหา แต่จะใช้ความมีเหตุผล ความถูกต้องเหมะสมกับเวลาสถานที่ และบุคคล
ทั้ง 6 ประการนี้ต้องเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ หรือเสมอต้นเสมอปลาย จึงจะทำให้ลูกเป็นคนที่มีความดี, ความเก่ง, ความกล้า, มีคุณภาพและดำเนินชีวิตให้เป็นสุข เป็นคนที่มีคุณค่าแก่ตัวเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ คุณพ่อและคุณแม่เองก็จะมีความสุข, ความชื่นชม, ความภูมิใจ ในความเป็นคนที่ประสบความสำเร็จของลูก และนี่ก็คือ “รางวัลชีวิตของการเป็นพ่อแม่“
By: สาโรช คำรัตน์ นักจิตวิทยา
