
ธรรมดาชีวิตครอบครัวจะเริ่มจากการสร้างครอบครัวของชายหญิงคู่หนึ่ง ชีวิตคู่จึงเริ่มต้นขึ้น ก่อนการเป็นพ่อแม่ การมีลูก และการเลี้ยงดูลูกให้เติบโต ดังนั้นความสำเร็จของการเลี้ยงดูลูกจะเกิดขึ้นไม่ได้ หรือเกิดขึ้นยากเต็มที ถ้าไม่มีความสำเร็จของชีวิตคู่ของพ่อแม่เป็นพื้นฐานที่ดีให้กับชีวิตของลูกต่อไป ชีวิตคู่ของพ่อแม่ จึงเป็นเสมือนอาหารหล่อเลี้ยงการพัฒนาเติบโตของลูกน้อยอย่างไม่ต้องสงสัย ถ้าขาดซึ่งอาหารใจนี้แล้วลูกคงต้องแคระแกร็น ไม่เติบโตหรือตายไปเหมือนต้นไม้ที่เจอภัยแล้งยาวนาน ซึ่งคนจำนวนมากยังไม่ตระหนักรู้ว่าลูกของเขาที่มีลมหายใจเดินไปเดินมาให้เห็นนั้น ที่แท้อาจเหมือนคนที่ตายแล้วคือตายทั้งเป็น เช่น ลูกกลายเป็นเด็กเกเรตีรันฟันแทง ลูกไปติดยาเสพติด ไม่เรียนหนังสือ และไม่ทำมาหากินอะไรด้วย บางครั้งลูกถึงกับทำร้ายร่างกายพ่อแม่จนถึงแก่ความตาย ดังปรากฏให้เห็นบ่อยๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือไม่ลูกก็ฆ่าตัวตายโดยกระโดดตึก กินยาตาย เพราะไม่สามารถปรับตัวให้มีความสุขได้ในโลกใบนี้เหมือนคนทั่วๆ ไปได้อีกแล้ว
เรื่องที่กล่าวข้างบนจะเห็นว่า ผลลัพธ์ที่ตามมานั้นร้ายแรงและรุนแรงได้มากๆ อย่างที่คนจำนวนมากมักลืมคิด จึงไม่เอาใจใส่เรื่องความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ของตนเท่าที่ควร ตอนก่อนแต่งงานเท่านั้นที่หนุ่มสาวจะให้เวลาและความสำคัญแก่กันอย่างสุดเหวี่ยง พอแต่งงานแล้วก็แค่ระยะข้าวใหม่ปลามันหรือระยะดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์เท่านั้นที่ยังมีความหวานชื่นต่อกัน หลังจากนั้นความสัมพันธ์ของชายและหญิงก็มักจะจืดจางลงๆ ราวกับน้ำแข็งในแก้วโอเลี้ยงที่ละลายจนหมดแก้ว หาความอร่อยอะไรไม่ได้อีก ซ้ำยังอาจเกิดอาการบูดเน่าขึ้นรา (คือสามีภรรยาทะเลาะเบาะแว้งกันเกือบตลอดเวลา ถ้าไม่มีการดูแลเอาใจใส่เลย) ดังนั้นการดูแลชีวิตคู่ของพ่อแม่ให้แข็งแรงและมีความสุข จึงเป็น รากฐานเบื้องต้นก่อนการจะมีความคิดว่าจะเลี้ยงลูกอย่างไรให้ลูกเติบโตเป็นคนดีและมีความสุข
ท่านจะดูแลชีวิตคู่ให้มีความสุขได้อย่างไร
1. ต้องเลือกคู่ให้ดี
ก่อนแต่งงานต้องมีสติสัมปชัญญะดีๆ ไม่ผลีผลาม อย่ากลัวการต้องอยู่เป็นโสด เพราะชีวิตโสดสามารถเป็นชีวิตที่ดีได้ โดยเฉพาะผู้หญิงขอแนะนำว่าถ้าไม่เจอผู้ชายที่ดีจงอย่าแต่งงาน คุณหมอสุกมล วิภาวีพลกุล เคยพูดว่าพ่อแม่ต้องสอนลูกสาวว่า "เป็นโสดดีกว่ามีผัวเลว" ซึ่งหมอเองเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าก่อนแต่งงาน ไม่ดูนิสัยใจคอของเขา ไม่ดูครอบครัวของเขาให้ดี จะมีปัญหาตามมามากมาย เช่น หลังแต่งงานก็พบว่าคู่ของตัว ไม่รับผิดชอบต่อครอบครัว เอาแต่สำมะเลเทเมา หรือพ่อแม่พี่น้องของเขาเข้ามาวุ่นวายบงการชีวิตของเราตลอดเวลา และสามีหรือภรรยาของเรายังไม่โต ไม่พ้นอิทธิพลของพ่อแม่พี่น้องของเขา ก็จะนำมาซึ่งความแตกร้าวของชีวิตคู่ คราวนี้แหละที่ "น้ำผึ้งขม" เสียแล้ว จึงขอย้ำว่าเลือกคู่ดูให้ดี ดูเป็นปีไม่ใช่เป็นวัน หรือเป็นเดือน
2. ต้องสนใจว่าทำอย่างไรจะรักกันให้ยั่งยืน
หลังแต่งงานแล้วไม่ใช่จบ ชีวิตยังดำเนินต่อไปและมีความซับซ้อนมากขึ้นด้วยซ้ำ การมีชีวิตอยู่คนเดียวให้มีความสุขยังไม่ใช่เรื่องง่าย การที่สองคนมาอยู่ด้วยกันให้มีความสุขทั้งสองคนยิ่งไม่ง่าย เพราะทั้งสองคนเดินกันมาคนละทาง เติบโตมาต่างกัน มีความคิด ความต้องการ ความคาดหวัง แตกต่างกันอย่างแน่นอน เว้นเพียงแต่มากหรือน้อยเท่านั้น ฉะนั้นทั้งคู่จึงต้องการการปรับตัวเข้าหากันให้สามารถ มีความสุขในส่วนที่เหมือนกันและสามารถยอมรับส่วนที่แตกต่างของกันและกันได้ โดยไม่พยายามเปลี่ยนคู่ของตัวให้ได้อย่างที่ตัวเองต้องการไปเสียทุกอย่าง เพราะเขาจะสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไป และจะเริ่มอึดอัดจนอาจทนไม่ได้ ต้องเลิกรากันไป ต้องเลือกคู่ให้มีส่วนที่มีความสุขได้ด้วยกันให้มากกว่าส่วนที่แตกต่าง หรือแตกต่างก็อย่าให้แตกต่างอย่างตรงกันข้ามจนรับกันไม่ได้ เช่น คนหนึ่งต้องการมีชีวิตที่สมถะและสงบสุข แต่อีกคนอยากรวยมากๆ อยากเป็นเศรษฐี อยากเป็นใหญ่เป็นโต อยากดัง อยากมีชื่อเสียงระดับประเทศ จึงโหมทำแต่งาน หาแต่เงินหามรุ่งหามค่ำ ชีวิตไม่มีวันเสาร์ไม่มีวันอาทิตย์ ไม่มีวันหยุด ไม่มีเวลาให้ครอบครัวเลย แล้วก็มาอ้างว่าเขาทำเพื่อครอบครัว แต่ไม่ได้ถามสักนิดว่าครอบครัวต้องการอะไรกันแน่
เลี้ยงลูกอย่างไรให้ประสบความสำเร็จทั้งพ่อแม่และลูก
เมื่อชีวิตคู่มีความสุขพอสมควรแล้ว คือ มีความพร้อมที่จะเป็นพ่อแม่แล้ว จึงมาช่วยกันเลี้ยงดูลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นผลงานชิ้นโบแดงของชีวิตทีเดียว ที่พ่อและแม่จะร่วมกันภาคภูมิใจได้ต่อไปตลอดชีวิต ลูกเองจะตอบแทนพ่อแม่ด้วยการให้ความสุขทางใจกับพ่อแม่ ทำให้พ่อแม่ชื่นใจจนถึงแก่เฒ่า จะเลี้ยงลูกให้เติบโตได้แบบนี้ พ่อแม่จะต้องทำอย่างน้อยในเรื่องเหล่านี้ คือ
1. พ่อแม่ต้องร่วมมือกันในการเลี้ยงลูกทั้งสองคน
เพราะลูกเองต้องการทั้งพ่อและแม่เป็นแบบอย่างให้เขาดูทุกวันๆ นั่นเอง คนจำนวนมากคิดว่าปล่อยให้แม่เลี้ยงดูคนเดียวก็เพียงพอแล้ว ซึ่งไม่จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพ่อต้องมีเวลาให้กับลูกเท่าๆ กับที่แม่ให้ เพียงแต่พ่อมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายมากกว่า ปริมาณเวลาที่จะให้ คือเวลาพ่ออยู่ในครอบครัวแล้วทำให้ครอบครัวอบอุ่น ลูกเข้าใกล้ได้ มีเวลาพูดคุยหรือเล่นกับลูก ช่วยเหลือลูกในสิ่งที่ลูกต้องการ ให้กำลังใจกับลูกในเรื่องต่างๆ ให้คำชมเชยเพื่อสร้างความมั่นใจและบุคลิกที่ลูกสามารถเป็นตัวของตัวเอง โดยรวมๆ คือ บ้านมีบรรยากาศที่ดีพอประมาณ บรรยากาศเป็นไปในทางบวก ไม่จำเป็นต้องบรรยากาศที่หวานแหวว หรือไม่ใช่การตามใจลูกจนลูกเสียคน ซึ่งปัจจุบันจะพบได้มากจนน่ากลัว ในสังคมของพ่อแม่ที่มีฐานะไม่ยากจน และไม่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ
2. พ่อแม่ต้องให้อาหารใจกับลูกอย่างเหมาะสม
พ่อแม่มักไม่ลืมอาหารกายของลูกแต่จะลืมนึกถึงเรื่องอาหารใจบ่อยๆ หรือไม่พ่อแม่จะให้อาหารใจขาดๆ เกินๆ ถ้าเปรียบการที่หมอให้ยาผู้ป่วย ขนาดยาที่ไม่เหมาะสม คือให้น้อยไปหรือมากไปย่อมเป็นอันตรายกับผู้ป่วยได้ การให้อาหารใจกับลูกนั้นเหมือนกันทีเดียว คือ ต้องพอเหมาะพอสม อาหารใจที่ลูกต้องการ พอสรุปคร่าวๆ ได้ดังนี้ คือ
1. ความรักและความอบอุ่นใจ
2. ความเข้าใจลูกวัยต่างๆ
3. คำชมและการไม่ตำหนิลูกอย่างรุนแรง หรือบ่อยๆ
4. ความเป็นอิสระตามวัยของลูก
5. ความยุติธรรมในครอบครัว
6. การอบรมบ่มนิสัยลูกอย่างถูกวิธี
กล่าวโดยสรุป ถ้าพ่อแม่เองมีความรักความเข้าใจระหว่างกัน และช่วยกันเลี้ยงลูกให้ถูกวิธี ท่านจะประสบความสำเร็จในชีวิตครอบครัวและความเป็นพ่อแม่ได้พร้อมๆ กันอย่างแน่นอน
By: ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนงพงา ลิ้มสุวรรณ
